|
|
เมืองโบราณที่ตำบลโคราช |
ที่ตั้ง ตำบลโคราช อำเภอสูงเนิน จังหวัดนครราชสีมา ประเภท โบราณสถานและศาสนสถาน
|
|
การคมนาคมและสภาพเส้นทาง |
จากตัวเมืองนครราชสีมา ไปตามทางหลวงหมายเลข ๒ (สระบุรี-นครราชสีมา) จนถึงหลักกิโลเมตรที่ ๒๒๑-๒๒๒ เลี้ยวขวา แยกเข้าทางหลวงหมายเลข ๒๑๖๑ ซึ่งเป็นถนนตัดตรงไปสู่ตัวอำเภอสูงเนิน จนถึงหลักกิโลเมตรที่ ๓.๕ เลี้ยวแยกขวามือเข้าถนนลูกรังไปประมาณ ๕.๒ กิโลเมตร ก็จะถึงตัวเมืองโคราฆปุระ รวมระยะทางจากตัวเมืองนครราชสีมา ๔๒.๒ กิโลเมตร สภาพถนนดินลูกรังสายนี้อยู่ในสภาพดี แต่อาจมีการชำรุดได้ถ้าหากมีรถบรรทุกหนักผ่านหรือมีรถเข้าออกมาก ส่วนสภาพทางหลวงหมายเลข ๒๑๖๑ เป็นถนนลาดยางอยู่ในสภาพดี และมีรถประจำทาง วิ่งผ่านทางหลวงสายนี้ แต่ไม่มีรถประจำทางเข้าถึงที่ตั้งเมืองโคราฆปุระ |
|
ประวัติความเป็นมา |
เมืองโคราฆปุระเป็นพิพิธภัณฑ์เมืองเก่ามีอาณาบริเวณเนื้อที่หลายร้อยไร่ และปราสาทแต่ละแห่งแยกกันเป็นหย่อม ๆ มีรั้วเหล็กล้อมและมีป้ายอธิบายถึงประวัติความเป็นมา รวมทั้งความสำคัญตรงหน้าทางเข้าเมืองโคราฆปุระ และเมืองเสมาแยกออกจากกันเพราะไม่มีเส้นทางคมนาคมเชื่อมถึงกัน ซึ่งถ้าทำถนนเชื่อมกันก็จะกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวเดียวกันได้ สภาพโดยทั่วไปภายในบริเวณเมืองโคราฆปุระนี้มีทั้งที่ได้รับการบูรณะและที่ทอดทิ้งไว้ให้ราษฎรเป็นผู้ดูแล ภายในเมืองมีถนนดินลูกรังซึ่งอยู่ในสภาพดี
เมืองโคราฆปุระนี้เป็นเมืองเก่าแก่โบราณแห่งหนึ่งซึ่งมีปราสาทที่เป็นโบราณสถานที่น่าสนใจ ๓ แห่ง คือ
๑. ปราสาทหินโนนกู่ ซึ่งมีลักษณะเป็นปรางค์ปราสาทหินทราย สร้างขึ้นในราว พุทธศตวรรษที่ ๑๖- ๑๗
๒. ปราสาทเมืองแขก ซึ่งมีลักษณะเป็นปรางค์ที่สร้างด้วยศิลาทรายสีเทา สร้างขึ้นในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๕-๑๖
๓. ปราสาทหินเมืองเก่าหรือปรางค์เมืองเก่า เป็นเทวสถานของศาสนา พราหมณ์ ซึ่งภายในปราสาทมีรอยพระพุทธบาท |
|
ปราสาทโนนกู่
|
|
ตั้งอยู่บ้านกกกอก หมู่ที่ ๗ ตำบลโคราช จากแยกวัดญาณโศภิตวนา รวม ๓ กิโลเมตร เป็นศาสนสถานแบบศิลปะเขมร ก่อด้วยอิฐปนหินทราย ประกอบด้วยปรางค์หลังเดี่ยวบนฐานสูง ด้านหน้ามีวิหารหันเข้าหาปรางค์ประธานอยู่ ๒ หลัง ล้อมรอบด้วยกำแพงแก้ว มีซุ้มประตูทิศตะวันออกและทิศตะวันตกเป็นทางเข้า-ออก และที่ลานระหว่างวิหารทั้งสองนั้นพบโคนนทิหมอบในอาการเคารพปราสาทประธาน อันเป็นที่สถิตของพระศิวะมหาเทพ ตามคติความเชื่อของศาสนาฮินดู ในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๖ ปราสาทหินโนนกู่ กว้าง ๒.๔๐ เมตร ยาว ๒๙ เมตร ตั้งอยู่กลางโคกมูลดินขนาดกว้าง ๓๐ เมตร ซึ่งอยู่ จากลำน้ำลำตะคองประมาณ ๘๐๐ เมตร ปัจจุบันตัวปรางค์เหลือเพียงฐาน มีการขุดพบเศียรพระพุทธรูป เทวรูปและวัตถุโบราณหลายชิ้นภายในบริเวณปราสาทแห่งนี้ |
|
|
ปราสาทเมืองเก่า
|
|
ตั้งอยู่ในวัดปราสาทเมืองเก่า ตำบลโคราช อยู่เลยปราสาทเมืองแขกไปอีกประมาณ ๓.๓ กิโลเมตร เป็นอโรคยาศาลที่พระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ มหาราชองค์สุดท้ายแห่งราชอาณาจักรเขมร ทรงสร้างขึ้นระหว่าง พ.ศ. ๑๗๒๔-๑๗๖๓ อโรคยาศาลมีแผนผังประกอบด้วยปรางค์ประธานรูปสี่เหลี่ยมย่อมุมไม้สิบสอง มีบรรณาลัยอยู่ทางมุมขวาด้านหน้า ล้อมรอบด้วยกำแพงแก้วซึ่งมีซุ้มประตูทางเข้าอยู่ด้านหน้า นอกกำแพงมีสระน้ำรูปสี่เหลี่ยมกรุด้วยศิลาแลง ปราสาทเมืองเก่า องค์ปรางค์ก่อเป็นรูปทรงสี่เหลี่ยม ย่อไม้สิบสองกว้าง ๕ เมตร สูง ๓.๙๕ เมตร มีประตูและมุม ๔ ทิศ ประตู้ซุ้มอยู่ทางทิศตะวันออกและกรอบประตูทำด้วยศิลาทราย อยู่ห่างจากลำน้ำลำตะคองประมาณ ๕๐๐ เมตร ปัจจุบันยอดปรางค์หักทลายเหลือเพียงครึ่งองค์ |
|
ปราสาทเมืองแขก
|
|
ตั้งอยู่ที่บ้านกกกอก หมู่ที่ ๗ ตำบลโคราช อยู่เลยปราสาทโนนกู่ไปประมาณ ๖๐๐ เมตร ปราสาทเมืองแขกเป็นศาสนสถานแบบศิลปะเขมร ก่อด้วยอิฐปนหินทราย ประกอบด้วยปรางค์ ๓ หลัง ตั้งอยู่บนฐานเดียวกัน หันหน้าไปทางทิศเหนือ ปัจจุบันเหลือเพียงมณฑปด้านหน้าล้อมรอบด้วยกำแพงแก้วและคูน้ำคั่นดินอีกชั้นหนึ่ง มีซุ้มประตูทิศเหนือเป็นทางเข้า-ออก นอกประตูซุ้มบนคันดินชั้นนอกสุด มีซากปราสาทขนาดย่อมอีกสองหลัง หน่วยศิลปากรได้ทำการขุดแต่งปราสาทเมืองแขกซึ่งได้พบทับหลังสลักลายตามแบบศิลปะเขมรสมัยเกาะแกร์แปรรูป รวมทั้งศิลาจารึกที่ถูกนำมาก่อเป็นฐานประตูซุ้มชั้นนอกสุด ปราสาทเมืองแขก ตั้งอยู่กลางเนินมูลดินมีคูน้ำล้อมรอบ อยู่ห่างจากลำน้ำ ลำตะคองประมาณ ๕๐๐ เมตร และมีการขุดพบปฏิมากรรมและลวดลายจำหลักหลายชิ้น |
|
|